วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2563

พระเจ้าล้านตื้อ-วัตถุโบราณ พระพุทธรูปล้านนา

เชียงราย – ทีมค้นหา “พระเจ้าล้านตื้อ-วัตถุโบราณ” กลางแม่น้ำโขง ต้องเลิกกะทันหัน สปป.ลาว ไม่ให้ขึ้นเกาะที่โผล่ขึ้นมาหลังน้ำแห้ง อ้างผิดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ขณะที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้มีพระพุทธรูปเก่าแก่จมใต้แม่น้ำโขงจริง กลุ่มสภาวัฒนธรรมฯ เตรียมขอกรมศิลป์ส่งทีมช่วยอีกรอบในฤดูฝน เมื่อน้ำท่วมเกาะ

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า ระหว่างวันที่ 11-13 พ.ค. 2552 กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับประชาชนชาวเชียงแสนโดยมีสภาวัฒนธรรม อ.เชียงแสน เป็นหน่วยงานประสานงานมีกำหนดทำการค้นหาโบราณวัตถุกลางแม่น้ำโขงบริเวณด้าน หน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน หลังจากเมื่อเดือน มิ.ย.2549 กรมทรัพยากรธรณีเคยนำเรือและเครื่องโซน่า เข้าค้นหาโบราณวัตถุตามคำบอกเล่าและหลักฐานพระรัศมีสัมริด ของพระพุทธรูปขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 70 เซ็นติเมตร เมื่อคำนวณว่า จากพระรัศมีดังกล่าวพบว่า จะได้องค์พระพุทธรูปสูงถึง 9 เมตร ซึ่งตามประวัติเรียกขานชื่อกันว่า “พระเจ้าทองทิพหรือพระเจ้าล้านตื้อ” จนพบวัตถุต้องสงสัยที่ไม่ใช่มาจากธรรมชาติมาก่อนหน้านี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังการค้นหา 1 วันที่ผ่านมา คณะจากกรมทรัพยากรธรณีและชาวบ้านที่ไปมุงดูหลายร้อยคนต่างก็ต้องผิดหวัง เพราะจุดที่กรมทรัพยากรธรณีเคยกำหนดเอาไว้ว่า พบวัตถุต้องสงสัยใต้น้ำ ในปัจจุบันกลับมีสภาพเป็นเกาะทรายกว้าง อันเกิดจากการเกาะกันของตะกอนดินทรายกลางแม่น้ำโขง และตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ก็ระบุให้เกาะกลางแม่น้ำโขงเป็นของ สปป.ลาว ด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปค้นหาบริเวณดังกล่าวได้ ทั้งๆ ที่ได้มีการนำเครื่องมือขุดเจาะไปแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่ สปป.ลาว ก็ไม่อนุญาตให้ขึ้นไปบนเกาะแต่อย่างใด

ด้าน นายบุญส่ง เชื้อเจ็ดตน ประธานสภาวัฒนธรรม อ.เชียงแสน กล่าวว่า หลังจากทำพิธีบวงสรวงกันตามประเพณีแล้วกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งเดินทางไปค้นหาพระเจ้าล้านตื้อที่หน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน หลายครั้ง ก็เริ่มนำเครื่องมือที่ทันสมัยลงไปหาในน้ำ และเตรียมเครื่องมือทางบกเอาไว้ด้วย แต่ปรากฏว่าจุดที่เคยกำหนดเอาไว้ว่าเคยพบวัตถุที่เชื่อว่าจะเป็นพระเจ้าล้าน ตื้อ กลับเป็นเกาะกลางแม่น้ำโขงไปเสีย จึงนับว่าน่าเสียดายอย่างมาก เพราะเราใกล้ความจริงมาทุกขณะ แต่ก็ต้องยกเลิกไป ดังนั้นตนในฐานะชาวเชียงแสน จะขอให้ทางกรมทรัพยากรธรณีนำเครื่องมือกลับไปสำรวจหาอีกครั้งในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2552 เพราะเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมเกาะจนหมดทำให้สามารถแล่นเรือไปได้โดยไม่ต้องติดเรื่องสนธิสัญญา ระหว่างประเทศ

นายบุญส่งกล่าวอีกว่า จุดที่เจ้าหน้าที่กำหนดเอาไว้จากการใช้โซน่าห่างจากเรือกลางแม่น้ำโขงเพียง ประมาณ 100 เมตรเท่านั้น หากเจ้าหน้าที่ สปป.ลาว ยินยอมก็จะใช้เวลาค้นหาเพียงแค่ 1 วันก็จะเห็นผลแล้ว แต่เมื่อไม่ยินยอมก็ทำให้คณะต้องค้นหาจุดอื่นตั้งแต่หน้าวัดผ้าขาวป้านไปจน ถึงบริเวณท่าเรือเชียงแสน ซึ่งก็ไม่พบสิ่งใดเพราะไม่ใช่จุดที่เครื่องโซน่าฉายพบวัตถุต้องสงสัย ดังนั้นจึงได้แต่หวังว่าทางเจ้าหน้าที่ไทยจะเห็นความสำคัญ เข้ามาดำเนินการอีกครั้งเพราะใกล้ความจริงเข้ามาแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมาปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ได้ระบุข้อความภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสนว่า ชาวเชียงแสนซึ่งตั้งถิ่นฐานมานาน 25-65 ปี เชื่อว่าบริเวณหน้าเมืองเชียงแสน มีพระเจ้าล้านตื้อหรือพระเจ้าทองทิพ จมอยู่กลางแม่น้ำโขงตามที่บรรพบุรุษเคยเล่าให้ฟัง และการค้นหาพระเจ้าล้านตื้อ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยพรานหาปลาที่ทอดแหและได้เห็นเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่โผล่ขึ้นมากลางน้ำ แต่ไม่มีพระรัศมีบนพระเกตุมาลา สอดคล้องกับหลักฐานที่ค้นพบเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน ซึ่งเป็นพระรัศมีสำริดขนาดใหญ่ ที่นำไปเก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสนดังกล่าว

จากนั้นก็มีค้นหาตามประสาชาวบ้าน และปรากฏเรื่องราวปาฏิหาริย์หลายครั้ง เช่น เรือของเจ้าหน้าที่ ที่ไปค้นหาบริเวณดังกล่าวถูกแรงดันให้เรือถอยออกมา เกิดฝนฟ้าตกคะนองเมื่อเข้าใกล้จุดดังกล่าว เป็นต้น

รายงานข่าวแจ้งอีกว่าเอกสารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสนสรุปอีกว่า เรื่องนี้ถูกเล่าขานจากชาวเชียงแสนและคนต่างถิ่นสืบทอดกันมานานจึงมิใช่ ตำนานหรือนิทานพื้นบ้าน และสันนิษฐานได้ว่าพระเจ้าทองทิพ หรือพระเจ้าล้านตื้อ รวมทั้งโบราณวัตถุต่างๆ เคยอยู่บนเกาะดอนแท่นหรือเกาะดอนแห้ง กลางแม่น้ำโขง หน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน จริง แต่เกาะได้ล่มลงก่อนที่จะมีการทำสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เรื่องการแบ่งปันเขตแดน เมื่อปี พ.ศ.2469 และช่วงรัชกาลที่ 1 ก็มีการเผาเมืองจนร้างจึงทำให้เหลือหลักฐานอยู่น้อยมาก

นอกจากนี้ยังมีตำนานและพงศาวดารเกี่ยวกับเมืองเชียงแสนเมื่อประมาณ 500-700 ปี เคยระบุถึงเกาะดอนแท่นกลางแม่น้ำโขงหลายครั้ง เช่น พระเจ้าแสนภูสร้างเมืองเชียงแสนทรงประทับอยู่ในวังบนเกาะดอนแท่น ที่บริเวณหน้าเมืองเชียงแสน จนสวรรคตและตั้งพระบรมศพบนเกาะดอนแท่นระยะหนึ่ง หรือสมัยพระเจ้ากือนา ของเมืองเชียงใหม่ ทรงนำพระสีหลปฏิมาทำพิธีอภิเษกพระบนเกาะดอนแท่น แล้วนำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดพระสิงห์ จ.เชียงราย เป็นต้น แต่ต่อมาเกาะดอนแท่นพังทลายลงในแม่น้ำโขงเมื่อใดไม่มีผู้ใดทราบ เนื่องจากเมืองเชียงแสนร้างไปตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงรัชกาลที่ 5 จึงคาดว่าจะล่มสลายลงในช่วงเวลาดังกล่าว

ข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/Loca/ViewNews.aspx?NewsID=9520000052680

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น